
ความหมายของ Cafe Hopping
Cafe Hopping เป็นการผสมผสานระหว่างของคำว่า Cafe หรือร้านกาแฟ (บางร้านมีการขายอาหารร่วมด้วย) กับ Hopping หรือการกระโดด เมื่อรวมกันแล้วจึงหมายถึง นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆแล้วมักจะเลือกร้านกาแฟสำหรับทานอาหารและถ่ายรูปมาเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนการท่องเที่ยวในครั้งนั้นๆ
ความเป็นมาของ Cafe Hopping
แรกเริ่มก่อนที่จะมีการท่องเที่ยวลักษณะ Cafe Hopping นั้น ประเทศไทยมีร้าน Cafe เกิดขึ้นมานานมากแล้ว โดยในอดีตมักจะนิยมเรียกกันติดปากว่า “สภากาแฟ” ซึ่งเป็นร้านกาแฟเล็กๆร้านหนึ่งที่ตั้งอยู่ในชุมชน มักจะเชื่อมโยงกับผู้คนในชุมชน ผู้คนเหล่านั้นจะเข้ามานั่งดื่มกาแฟแล้วพูดคุยกันในตอนเช้าก่อนจะแยกย้ายกันไปทำการเกษตรหรือค้าขาย นับเป็นสถานที่รวมตัวกันของเหล่ากูรูในชุมชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เมื่อนักท่องเที่ยวต่างถิ่นเดินทางผ่านไปมาจึงมักจะแวะสถานที่แห่งนี้ เพื่อทานอาหารหรือดื่มกาแฟ และพูดคุยสอบถามกับคนในชุมชน เมื่อเวลาผ่านไปจวบจนปัจจุบัน สภากาแฟได้แปรเปลี่ยน จากเดิมที่เป็นสถานที่สาธารณะของชุมชน กลายเป็นสถานที่ที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการเข้ามามีบทบาทให้การทำธุรกิจ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีแหล่งท่องเที่ยวซึ่งได้รับความนิยมก็มักจะมี Cafe เปิดตามไปด้วย
แรงจูงใจของนักท่องเที่ยวแบบ Cafe Hopping
- ร้านที่มีการตกแต่งสวยงาม วิวและบรรยากาศดี เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการถ่ายภาพ
- เครื่องดื่มรสชาติอร่อยและจัดแต่งได้ดี สามารถนำไปถ่ายภาพได้ ทางร้านจะต้องสร้างความพิเศษเฉพาะขึ้นมา อาทิ การคิดค้นสูตรเครื่องดื่มแบบใหม่ เช่น กาแฟผสมน้ำส้มโอ กาแฟผสมน้ำทับทิม เป็นต้น ผู้ประกอบการจะต้องพยายามหาจุดขายให้แตกต่างจากร้านอื่น
ข้อจำกัดของการท่องเที่ยวแบบ Cafe Hopping
นักท่องเที่ยวที่ได้ถ่ายรูปกลับไปแล้ว มักจะไม่กลับมาบริโภคซ้ำหรือกลับมาใช้บริการค่อนข้างน้อย หากเครื่องดื่มที่ร้านนั้นไม่ได้มีรสชาติดีจริงจนหาทานไม่ได้อีก ในขณะที่ทางร้านเองได้ลงทุนค่าตกแต่งดัดแปลงทางภูมิสถาปัตย์ไปแล้ว ประกอบกับการที่ Cafe ไม่ได้ยึดโยงกับชุมชนเหมือนในอดีต เมื่อสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณนั้นหมดความนิยมไปแล้ว ในระยะยาวจะทำให้ร้านมีผลประกอบการขาดทุนและต้องเลิกกิจการไปในที่สุด
แนวโน้มการเติบโตในอนาคตของการท่องเที่ยวแบบ Cafe Hopping
หากประชากรส่วนใหญ่ยังเสพสื่อ Social media ร้าน Cafe ก็ยังสามารถเกิดขึ้นและเติบโตขึ้นได้อีกเรื่อยๆ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เกิดปัญหาการระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า-19 (COVID-19) ทำให้ประชาชนบางส่วนตกงานจึงเลือกที่จะกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัด หากในพื้นที่นั้นมีแหล่งท่องเที่ยวอยู่ กลุ่มคนเหล่านี้ก็มักจะเปิดร้านกาแฟหรือร้านอาหาร ปรับแต่งร้านให้เข้ากับสถานที่ มีความสวยงาม น่านั่ง ดึงดูดนักท่องเที่ยว
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการท่องเที่ยวแบบ Cafe Hopping
- นักท่องเที่ยวลดน้อยตามความนิยมของสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่
- ร้าน Cafe ไม่ได้เชื่อมโยงกับชุมชน ผู้ประกอบการไม่ได้ให้สิ่งใดกับชุมชน และชุมชนก็ไม่ได้รับประโยชน์ใดกับการมีอยู่ของร้าน Cafe
แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบ Cafe Hopping
- ร้าน Cafe ควรเชื่อมโยงกับชุมชนให้มากขึ้น เช่น การนำผลิตภัณฑ์จากชุมชนเข้ามาขายร้าน การอนุญาตให้ตั้งโต๊ะหน้าร้านสำหรับขายสินค้าจากชุมชน เป็นต้น การเอื้อประโยชน์นี้จะทำให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมกับร้านมากขึ้น ทำให้หากวันใดที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวยังพื้นที่นั้นแล้ว ทางร้านก็ยังจะมีรายได้จากคนในชุมชนอยู่
- ภาครัฐควรเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยเพื่อนักท่องเที่ยว (SHA) ของร้าน Cafe แต่ละร้าน เพื่อให้นักท่องเที่ยวมั่นใจในการเข้าใช้บริการมากขึ้น
- ร้าน Cafe จะต้องกำหนดกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายก่อนทำรายการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อไม่ให้ราคานั้นสูงเกินไป
- ร้าน Cafe ควรรักษากลุ่มลูกค้าคนไทยไว้แม้จะมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามา ไม่ควรขึ้นราคาสูงเกินไปสำหรับนักเที่ยวชาวไทย เพราะนักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวได้โดยไม่มี Cafe แต่ Cafe จะดำเนินกิจการต่อไม่ได้หากไม่มีนักท่องเที่ยว ในอนาคตหากมีโรคระบาดเกิดขึ้นอีก นักท่องเที่ยวชาวไทยคือปัจจัยหลักที่จะทำให้ Cafe นั้นอยู่รอด
อาจารย์ธนวัฒน์ เพชรพันธ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการท่องเที่ยว
ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
- การสื่อสารการตลาด
- การออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยว
วิชาที่สอน
- การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ
- การจัดการและพัฒนาทุนมนุษย์สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ
- การตลาดดิจิทัลสำหรับการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ