
หลายๆคนฝันอยากเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า สจ๊วต แอร์โฮสเตส แต่ไมรู้จะเริ่มยังไง จะต้องเตรียมตัวอย่างไร หรือมีคุณสมบัติอะไรบ้าง บทความนี้จะมาแบ่งปันประสบการณ์การสมัครพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน และการทำงานในสายการบินของอาจารย์ เกวลี กระสานติ์กุล อาจารย์ประจำ สาขาวิชาการจัดการธุรกิจสายการบิน ที่เคยร่วมงานในฐานะแอร์โฮสเตสกับ Japan Airlines และ Nok Air
9 ขั้นตอนสำหรับการเตรียมตัวสู่อาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน
1. ด้านอายุ
สายการบินมักกำหนดอายุของผู้สมัครเพศหญิง ระหว่าง 20-26 ปี และเพศชาย อายุระหว่าง 21-28 ปี แต่บางสายการบินก็ไม่จำกัดอายุ ดังนั้น ใครเตรียมตัวดี เตรียมตัวเร็ว เริ่มสมัครแอร์ตั้งแต่อายุน้อยๆ เพิ่งเรียนจบใหม่ๆ ก็จะมีโอกาสมากกว่า
2. ด้านสถานภาพ
ต้องมีสถานภาพโสด ส่วนเพศชายต้องผ่านการคัดเลือกทหารมาแล้ว
3. ด้านวุฒิศึกษา
สายการบินส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสายการบินในเอเชียและประเทศไทยมักกำหนดวุฒิการศึกษาขั้นต่ำที่ระดับปริญญาตรี
4. ด้านภาษา
เตรียมผลคะแนนสอบ TOEIC ซึ่งควรมีคะแนนขั้นต่ำอยู่ที่ 650 คะแนนขึ้นไป และหากสามารถสื่อสารภาษาที่ 3 ได้ก็จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะภาษาจีน ซึ่งเป็นที่ต้องการของหลายๆสายการบิน
5. ด้านรูปร่าง
เพศหญิง สายการบินส่วนใหญ่กำหนดส่วนสูงไว้ไม่ต่ำกว่า 160 ซม. ส่วนเพศชาย ส่วนสูงไม่ควรต่ำกว่า 165 ซม. โดยน้ำหนักต้องสัมพันธ์กับส่วนสูง
6. ด้านความงาม
หลายๆคนมักเข้าใจผิดว่า การเป็นสจ๊วต แอร์โฮสเตส ได้จะต้องเป็นคนสวย คนหล่อ คนหน้าตาดี ซึ่งไม่จำเป็นเสมอไป ขอเพียงแต่ผู้สมัครจะต้องมีบุคลิกภาพที่ดี มีเสน่ห์ สะอาด เป็นคนที่ผู้โดยสารเห็นแล้วเกิดความสบายใจ และสามารถเป็นภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสายการบินได้ก็พอแล้ว
7. ด้านอุปนิสัยและทัศนคติ
บางสายการบินจะมีการทดสอบจิตวิทยา (Attitude Test) เพื่อประเมินลักษณะนิสัยภายในของผู้สมัครด้วย โดยคุณลักษณะที่ขาดไม่ได้ คือ ควรเป็นคนใจเย็น มีความอดทน ชอบช่วยเหลือผู้อื่น มีไหวพริบในการแก้ไขปัญหา มีกิริยามารยาทเรียบร้อย สามารถปรับตัวเข้ากับผู้อื่นและสังคมได้ง่าย มีความอดทนเป็นพิเศษและต้องกล้าตัดสินใจ
8. ด้านความสามารถในการว่ายน้ำ
เพศหญิง ควรสามารถว่ายน้ำได้ในระยะ 50 เมตร เพศชาย ควรสามารถว่ายน้ำได้ในระยะ 100 เมตร
9. ด้านสุขภาพ
ต้องเป็นคนที่มีสุขภาพดี แข็งแรง
การฝึกอบรม
หลังจากที่เราได้รับการคัดเลือกให้เป็นสจ๊วต แอร์โฮสเตส ของสายการบินแล้ว สายการบินก็จะจัดฝึกอบรมที่เรียกว่า Initial Training ให้เรา โดยมากใช้เวลาอบรมประมาณ 2-3 เดือน หัวข้อการฝึกอบรมจะประกอบไปด้วย 5 หัวข้อ คือ
1. หน้าที่และความรับผิดชอบ (Duties and responsibilities)
2. อุปกรณ์ฉุกเฉินบนเครื่องบิน (Safety Equipment)
3.ขั้นตอนการอพยพเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Procedure)
4.การปฐมพยาบาล (First Aid)
5.การบริการบนเครื่องบิน (In-flight Service Training)
6. บางสายการบินอาจจะต้องเรียนภาษาที่ 3 ด้วย
จากประสบการณ์ สายการบิน Japan Airlines จะฝึกอบรมทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ ตั้งแต่ 08.00 – 17.00 น. บางวันก็เลิกเย็นกว่านั้น และจะต้องเรียน 5 หัวข้อหลักข้างต้น รวมถึงภาษาญี่ปุ่นสลับกันไปทุกวัน โดยทุกๆ เช้าจะมีการสอบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่เกี่ยวกับสิ่งที่เรียนไปก่อนหน้า ซึ่งถ้าใครสอบได้คะแนนต่ำกว่า 90% ก็อาจหมดสิทธิ์ที่จะเป็นแอร์โฮสเตสได้
ชีวิตหลังติดปีก
เมื่อผ่านการฝึกอบรมมาได้ ก็ได้เวลาโบยบินสู่ท้องฟ้า แต่ใครที่คิดว่าอาชีพนี้มีหน้าที่แค่เดินสวยๆ ยิ้มสวยๆ เสิร์ฟอาหารอย่างเดียว ขอบอกว่า คิดผิดถนัด! เพราะจริงๆแล้วอาชีพสจ๊วตแอร์โฮสเตส ทำหน้าที่หลัก 3 อย่าง ซึ่งทั้ง 3 หน้าที่นี้จะเกิดขึ้นพร้อมๆกัน ขณะที่ทำงานอยู่บนเครื่องบิน
หน้าที่แรก เป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุด คือ หน้าที่ดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสาร แอร์โฮสเตสต้องพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้โดยสารในทันทีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน (Emergency) และสามารถอธิบายวิธีเตรียมความพร้อมต่างๆให้ผู้โดยสารได้อย่างถูกต้องตามที่ได้รับการฝึกอบรมมา
หน้าที่ที่สอง คือ การบริการอาหารเครื่องดื่ม ดูแลเรื่องเอกสารเข้าประเทศ อำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารพึงพอใจสูงสุดเมื่อเดินทางกับสายการบิน
หน้าที่ที่สาม คือ หน้าที่อื่นๆ เช่น การขายสินค้าที่ระลึก ขายสินค้าปลอดภาษี เขียนรายงานเหตุการณ์บนเที่ยวบิน และที่สำคัญคือ ทำหน้าที่เป็นภาพลักษณ์ที่ดีของสายการบิน ประชาสัมพันธ์สายการบินและประเทศด้วย
ดังนั้น กว่าจะได้เป็นสจ๊วต แอร์โฮสเตส ไม่ง่ายเลย แต่ก็ไม่ยากจนเกินความสามารถของเรา ขอแค่มีความพยายามและมีการเตรียมตัวที่ดี ขอแอบกระซิบว่า ที่สาขาวิชาการจัดการธุรกิจสายการบิน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อาจารย์จะเตรียมความพร้อมให้เราตั้งแต่ ปี 1 เทอม 1 เลย ปรับบุคลิกภาพ การยืน การเดิน การนั่ง การแต่งหน้าและการแต่งตัวให้เหมาะกับอาชีพนี้ แล้วเราจะได้เรียนทั้ง 5 หัวข้อฝึกอบรมเหมือนที่แอร์โฮสเตสเรียนกันจริงๆ รวมถึงฝึกปฏิบัติการบริการบนเครื่องบินจำลองด้วย
อาจารย์เกวลี กระสานติ์กุล อาจารย์ประจำ
สาขาวิชาการจัดการธุรกิจสายการบิน
ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
- Transportation business management
- Personality development
- Service quality management
วิชาที่สอน
- การจัดการงานบริการผู้โดยสารบนเครื่องบิน
- การพัฒนาบุคลิกภาพสำหรับการทำงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ
- การจัดการสายการบินต้นทุนต่ำ