
การท่องเที่ยวแบบเนิบช้า หรือ Slow tourism เป็นการท่องเที่ยวที่ไม่เร่งรีบ นักท่องเที่ยวใช้เวลาอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวที่ ยาวนานขึ้น เป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นโดยเฉพาะคนในเมืองใหญ่ ซึ่งอาจเกิดจากนักท่องเที่ยวบางส่วนต้องการต้องการการใช้ชีวิตที่ไม่เร่งรีบ หลีกหนีความวุ่นวายและจำเจในเมือง เพื่อแสวงหาการพักผ่อนที่แท้จริงผ่านกิจกรรมต่างๆของแหล่งท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวอาจใช้เวลาและพักผ่อนอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวให้นานมากขึ้น เพื่อที่จะได้มองเห็นสิ่งสวยงามของสิ่งใกล้ตัวมากขึ้น โดยมีคำแนะนำง่ายๆ คือ เลือกพักในแหล่งท่องเที่ยวให้นานขึ้น และเริ่มวางแผนท่องเที่ยวไปยังสถานที่รอบๆ ที่พัก เรียนรู้กับวิถีชีวิต การอาหาร ทำความรู้จักกับผู้คน ซึ่งเชื่อว่า นักท่องเที่ยวจะสามารถพบเจอกับประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่งน้อยคนจะได้มีโอกาสสัมผัสอย่างแน่นอน โดยมีแนวคิด 10s ดังนี้
1. Slow activity คือ การประกอบกิจกรรมที่ไม่เร่งรีบเกินไป แต่ใช่เวลาอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่งยาวนานมากขึ้นหรืออาจมีการพักแรมในแหล่งท่องเที่ยว เน้นกิจกรรมที่ปลอดภัย มุ่งเน้นกิจกรรมในการผ่อนคลายทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เช่น สปา โยคะ การนวด อาหารเพื่อสุขภาพ การปั่นจักรยานเพื่อชมวิถีชีวิต
2. Slow logistics คือ กิจกรรมการเดินทางการขนส่งที่ไม่เร่งรีบจนเกินไป มีความปลอดภัยในการเดินทาง ยานพาหนะและการให้บริการที่เกี่ยวข้อง ควรมุ่งไปการขนส่งที่สะอาด ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและนักท่องเที่ยวน้อยที่สุด (Green logistic) รวมถึงการส่งเสริมการใช้รถสาธารณะ และการส่งเสริมการใช้ยานพาหนะของท่องถินเพื่อกระจายรายได้
3. Slow food คือ การประกอบอาหารที่ประณีต เป็นอาหารที่มีคุณภาพ สด สะอาดและปลอดภัย ทั้ง ในด้านวัตถุดิบ เครื่องปรุง เครื่องครัวและวิธีการประกอบอาหาร และการส่งเสริมการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นเพื่อใช้ในการประกอบอาหาร
4. Slow stay คือ การพักค้างแรมเป็นระยะเวลานาน (อาจมากกว่า 1 คืน) เน้นไปที่การพักผ่อน ในแหล่งท่องเที่ยวท่ามกลางธรรมชาติหรือแหล่งชุมชน ที่สามารถซึมซับบรรยากาศ และประกอบกิจกรรมร่วมไปกับท้องถิ่นได้
5. Slow place/city คือ สถานที่ท่องเที่ยว ชุมชนหรือเมืองขนาดเล็กที่มีความสงบ เรียบง่าย มีความเป็นธรรมชาติสูง ผู้คนมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไปในแต่ละท่องถิ่น แนวคิดนี้ควรมุ่งเน้นการรักษาอัตลักษณ์ของท้องถิ่น มีการจัดการวางแผนที่ดีควยคู่กับการท่องเที่ยว
6. Slow money คือ การใช้จ่ายที่ไม่เร่งรีบ จ่ายในส่วนที่สมควรจะจ่าย เน้นการใช้สอยที่ใช้เวลาที่ยาวนาน ไม่เน้นความฟุ่มเฟือย การจับจ่ายควรมุ่งไปสู่ท่องถิ่นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เน้นการสร้างรายได้แก่คนท่องที่ ขณะเดียวกันแหล่งท่องเที่ยวก็ไม่ควรเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว สินค้าและบริการควรเป็นสิ่งที่มาจากชุมชุนไม่ขัดแย้งกับเอกลักษณืของท้องที่
7. Slow Development คือ การพัฒนาพื้นที่และกิจกรรมการท่องเที่ยวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เน้นพัฒนาขนาดเล็ก และยั่งยืน (Small development) ภายใต้การรองรับของพื้นที่ (Carrying capacity) โดยไม่ควรปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงสภาพเดิมของพื้นที่มากจนเกินไป
8. Slow accommodation คือ สถานที่พักแรมที่มีความสงบ สะอาดและปลอดภัยอยู่ห่างไกลจาก แหล่งมลภาวะที่เป็นพิษ เป็นที่พักขนาดเล็กและเรียบง่าย มีการจัดการที่พักแรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม(Green hotel) ออกแบบให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมแต่ละสถานที่ท่องเที่ยว
9. Slow life คือ การใช้ชีวิตของนักท่องเที่ยวท่ามกลางความสงบเน้นการพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติ ดั้งเดิมของพื้นที่ นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสถึงการใช้ชีวิตของคนในแหล่งท่องเที่ยว เน้นการท่องเที่ยวและการพักผ่อนทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เน้นการท่องเที่ยวที่เมืองใหญ่ไม่สามารถตอบสนองได้
10. Slow energy คือ การประกอบกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ประหยัดพลังงาน ทรัพยากรและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งในด้านการขนส่ง ที่พักแรม กิจกรรมการท่องเที่ยว และการบริการด้านอื่นๆ
จากแนวคิดของการท่องเที่ยวแบบเนิบช้า (Slow tourism) เราจะเห็นได้ว่าเป็นการท่องเที่ยวที่เน้นความเรียบง่าย สงบ มุ่งเน้นกิจกรรมที่เป็นมิตรและใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม เน้นการท่องเที่ยวที่เข้าหาธรรมชาติ สัมผัสกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม อัตลักษณ์ของท้องถิ่นนั้น และมุ่งการกระจายรายได้ไปสู่ท่องถิ่น ซึ่งการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การวางแผนและการพัฒนาท่องเที่ยวแบบเนิบช้า (Slow tourism) จึงควรเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม เน้นความเป็นดั้งเดิมให้เหมาะสมกับสภาพวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของท้องที่ มีการจัดการกับผลกระทบด้านต่างๆร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ซึ่งถ้าหากสามารถทำได้การพัฒนาการท่องเที่ยวก็จะนำไปสู่ความยั่งยืนอย่างแน่นนอน
อาจารย์ธนากร ศรีตนไชย อาจารย์ประจำ
สาขาวิชาการจัดการธุรกิจสายการบิน
ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
- Transportation business management
วิชาที่สอน
- การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการในพลวัตโลก
- พฤติกรรมผู้บริโภคและการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ
- ภาษาอังกฤษสำหรับการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ